หากถามว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่น่ากลัวที่สุดต่อการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ หลายคนคงตอบว่าความผันผวนและความเสี่ยงที่จะขาดทุน
แต่มีปัจจัยหนึ่งที่มักถูกมองข้ามโดยคนส่วนใหญ่คือ “ค่าธรรมเนียม”
ซึ่งจริงๆแล้วค่าธรรมเนียมที่ดูเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยกลับสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จและล้มเหลวได้ชัดเจนเสียยิ่งกว่าความเสี่ยงใดๆเสียอีก โพสต์นี้เราจะมาดูกันว่าเพราะอะไร
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจภาพรวมของค่าธรรมเนียมกันก่อน
สำหรับนักลงทุนทั่วไปค่าธรรมเนียมการลงทุนจะสามารถแบ่งหลักๆได้ 2 ประเภท
ค่าธรรมเนียมที่จ่ายตลอดระยะเวลาที่ถือครอง:
ได้แก่ค่าธรรมเนียมการจัดการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆของกองทุน สำหรับผู้ที่ซื้อกองทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมและกองทุนดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) ค่าธรรมเนี่ยมนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยค่าธรรมเนียมนี้จะถูกเรียกเก็บบนสินทรัพย์รวมของกองทุนและหักออกจากราคา NAV รายวันของกองทุนเลย โดยปกติแล้วค่าธรรมเนียมนี้จะอยู่ที่ราว 0.2-1.0% ต่อปีขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุน
ค่าธรรมเนียมที่จ่ายเมื่อมีการทำธุรกรรม:
ได้แก่ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและคอมมิชชั่น ถ้าเป็นกองทุนรวมสิ่งที่มักพบเจอได้คือค่าธรรมเนียมขายที่เก็บตอนเราซื้อ (front end) โดยส่วนมากอยู่ที่ราว 0.5-1.5% ส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานก็จะเป็นค่าคอมมิสชันที่ราว 0.15%
จะเห็นได้ว่าในทุกๆปี เราอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมในการลงทุนได้ถึง 1% หรือมากกว่าถ้ามีการซื้อขายบ่อยๆ ถ้าถามว่าทำไมค่าธรรมเนียมในอัตราเพียง 1% ถึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาวได้มากขนาดนั้น แอดมินอยากให้ลองพิจารณาจากเคสต่อไปนี้
นายเอกและนายโท เริ่มลงทุนด้วยเงิน 1 แสนบาทในกองทุนรวมเพื่อการเกษียณบนระยะเวลา 30 ปี นายเอกเลือกกองทุน A ที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.25% ต่อปี ในขณะที่นายโทเลือกกองทุน B ที่มีค่าบริหารจัดการ 1.25% ต่อปี
แม้ว่ากองทุน A และกองทุน B จะมีค่าธรรมเนียมต่างกันเพียงปีละ 1.00%
แต่ถ้าหากทั้งสองกองทุนทำผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียมได้ไม่ต่างกันมากแล้วล่ะก็ ส่วนต่าง 1.00% ต่อปีนี้เมื่อคิดทบต้นจะทำให้เงินปลายทางแตกต่างกันได้มหาศาล
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าทั้งสองกองทุนทำผลตอบแทนได้ราว 7% ก่อนหักค่าธรรมเนียม นายเอกจะทำเงินได้ถึง 7.1 แสนบาทใน 30 ปี ส่วนนายโทจะทำเงินได้เพียง 5.3 แสนบาทเท่านั้น
ความน่ากลัวของค่าธรรมเนียมอยู่ตรงที่มันสามารถกัดกร่อนผลตอบแทนของเราได้แน่นอนแบบไม่ต้องลุ้น
และยิ่งเวลาผ่านไปมันก็จะยิ่งลดทอนความมั่งคั่งของเราได้อย่างทวีคูณ เทียบดูแล้วยังน่ากลัวกว่าความผันผวนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเสียอีก ดังนั้น ความเข้าใจต้นทุนค่าธรรมเนียมและการหาทางเลือกที่มีค่าธรรมเนียมเหมาะสมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการวิเคราะห์หุ้นหรือกองทุนเลย ยังดีที่ว่าค่าธรรมเนียมเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนและคำนวณได้แน่ชัด
"
ดังนั้น วิธีง่ายที่สุดที่เราสามารถเลือกทำเพื่อ “เพิ่มผลตอบแทน”
ก็คือการพยายาม “ลดต้นทุนค่าธรรมเนียม” นั่นเอง
"
อย่างที่เราเห็นจากตัวอย่างไปแล้ว การลดต้นทุนเพียงปีละ 1% สามารถส่งผลกระทบต่อความมั่งในอนาคตอย่างมหาศาล
วันนี้แอดมินขอนำเสนอวิธีการแสนธรรมดาที่จะช่วยให้เราลดต้นทุนได้ง่ายๆ
เลือกลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ Passive:
หนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนไม่ว่ารายใหญ่หรือรายย่อยในการลดค่าธรรมเนียมคือผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบ Passive ที่มีต้นทุนค่าบริหารจัดการต่ำ เช่น กองทุนดัชนี (index fund) และกองทุนดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) กองทุนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้วิ่งตามดัชนี (เช่น S&P500 หรือ SET50) โดยแทบไม่ต้องพึ่งความสามารถของผู้จัดการลงทุนเลย ทำให้สามารถกดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการได้ในระดับที่ต่ำมาก
"
การลงทุนแบบ Passive อยู่บนปรัชญาง่ายๆที่ว่า
“ถ้าลงทุนให้ชนะตลาดมันยากนัก
ก็ทำผลตอบแทนให้มันใกล้เคียงกับตลาดเสียเลย
”
แน่นอนว่าการลงทุนแบบนี้ไม่มีทางชนะตลาดได้ แต่ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีก็ดีเกินพอแล้วสำหรับเป้าหมายของนักลงทุนหลายๆคน
ไม่ซื้อขายบ่อยเกินจำเป็น:
การปรับพอร์ตเป็นระยะ (เช่นทุกไตรมาส หรือครึ่งปี) เพื่อจูนในการกระจายตัวของสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่การเทรดเก็งกำไรที่ถี่เกินไปจะทำให้ผลตอบแทนรวมของเราลดลงอย่างรวดเร็ว หลายคนอาจมองว่าลงเงินในกองทุนหุ้นช่วงสั้นๆ ก็บวกลบได้เป็น 20-30% แต่อย่าลืมว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นอยู่ที่เพียง 8-10% ต่อปีเท่านั้น ถ้าเราเทรดกองทุนหุ้น การซื้อแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.0-1.5% หากเราซื้อๆขายๆ ไม่กี่ครั้งต่อปีก็มากพอที่จะทำลายผลตอบแทนเฉลี่ยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ตรวจสอบพอร์ตการลงทุนเป็นประจำ:
การตรวจสอบพอร์ตการลงทุนเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งเ
ป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบุว่าการลงทุนใดที่อาจทำให้เราเสียค่าธรรมเนียมมากเกินไปหรือกองทุนใดมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าธรรมเนียม ทุกวันนี้ มีเครื่องมือออนไลน์ที่ใช้งานง่ายทำให้เราสามารถดูรายละเอียดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนสำหรับการลงทุนได้เพียงไม่กี่คลิก ผลกระทบของค่าธรรมเนียมการลงทุนไม่ควรถูกละเลย ไม่ว่าพวกมันจะดูเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะทุกบาทที่จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมคือทุกบาทที่ไม่ได้ทบต้นเพื่อการเติบโตของพอร์ตการลงทุนนั่นเองหากคุณกังวลว่า "การลงทุนเป็นเรื่องยุ่งยาก" การมีที่ปรึกษาการลงทุนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคุณได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 165 5555
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
#EDGE #EDGEInvest #วางแผนลงทุน #ลงทุน #EDGELifePlan #BeyondInvestment #มากกว่าการลงทุนคือแผนชีวิต #MoneyManagement #FinancialPlanning